โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดที่มากับหน้าฝน
การรักษาโรคมือเท้าปาก
โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ
เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต
การติดต่อของโรคมือเท้าปาก
โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง
หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ
แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น
เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก
หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ
อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก
ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน
ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดี
ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน
หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และ เมื่อหายป่วยแล้ว
เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์
ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน
ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
และก่อนรับประทานอาหารแก่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่
เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้
ในช่วงที่มีการระบาด
ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้เนื่องจากมีเด็กที่เป็นโรคนี้และแพร่เชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก
ที่อาจไปอยู่รวมกัน
การป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล
1. มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น
หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก
หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท)
ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้
และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน
2. ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน
หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก
3. มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ
ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก
โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ
การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
4. หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา
1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย
เพื่อหยุดการระบาด
การดูแลเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก
ต้องบอกเลยว่าโรคมือเท้าปากที่เกิดขึ้นนั้น การรักษาความสะอาดร่างกายของเด็กก็มีส่วนที่จะไม่ทำให้แผลเกิดการลุกลามได้ง่าย
รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็งมากๆ ที่จะดูแลเขา
หากเด็กมีไข้ก็ให้เช็ดตัว หรือกินยาลดไข้เข้าไปเพื่อบรรเทา
สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดอย่างหนึ่งเมื่อเด็กเป็นโรคนี้ คือ เขาจะไม่ยอมกินอะไรเพราะเจ็บแผลในปาก
ฉะนั้น ก่อนการรับประทานอาหาร
ให้คุณแม่ใช้ยาชาที่คุณหมอให้เมื่อครั้งที่ไปตรวจมาทาที่บริเวณแผลในปากของเด็กก่อนที่จะกินอาหาร
หรือเน้นให้เด็กกินอาหารที่เป็นของเหลวและต้องมีความเย็น อาทิ นมแช่เย็น , น้ำเต้าหู้ที่ไม่ร้อน
, น้ำหวาน , ไอศกรีม , เจลลี่ , ผลไม้ , เต้าฮวยนมสด ,
เกลือแร่ รวมถึงเน้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอาการขาดน้ำ
หากเด็กไม่สามารถกินอะไรได้เลยก็ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือโดยด่วน
ในกรณีที่เด็กมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก
คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้เด็กหยุดเรียนก่อนเพื่อดูอาการของโรค
และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายได้หากพบว่าเป็น
ซึ่งโดยปกติแล้วโรคมือเท้าปากจะไม่มีความรุนแรงมากนักและจะหายได้เองภายใน 1
สัปดาห์ แต่ถ้าเด็กมีอาการมีอาการซึม
หรืออาเจียนมากต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและดูอาการ เนื่องจากอาจจะมีอาการของสมองอักเสบเข้ามาร่วมด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น