ความแตกต่าง “ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่”
ความแตกต่าง
“ไข้หวัด
VS ไข้หวัดใหญ่”
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และไข้ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า อาการที่เด็กเป็นนี้
เกิดจากโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ลองมาดูความแตกต่าง
เพื่อการดูแลและป้องกันที่ถูกต้อง
ไข้หวัด
เกิดจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ อาการมักไม่รุนแรงมาก เช่น
1.มีไข้
2.ไอ มีเสมหะ
3.มีน้ำมูก จาม
4.คัดจมูก
5.อ่อนเพลีย
ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้อไวรัส INFLUENZA โดยที่ระบาดในคนมักเกิดจากสายพันธุ์
A และ B สำหรับอาการแสดง
จะรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดามาก
1.มีไข้สูง
2.ไอ เจ็บคอ
3.มีน้ำมูก
4.อ่อนเพลีย
5.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
6.ทานไม่ค่อยได้
7.คลื่นไส้
อาเจียน
8.บางรายอาจหนาวสั่น
9.บางรายอาจมีท้องเสียร่วมด้วย
กลุ่มเสี่ยงของโรคไข้หวัดใหญ่
อายุ
โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
โรคประจำตัว
โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ
สตรีมีครรภ์
อย่างไรก็ดี
หากเด็กมีไข้ร่วมกับอาการฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น ชัก หายใจหอบ อาเจียน อุจจาระเหลว
ปัสสาวะน้อย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
หากแพทย์เห็นสมควรให้รักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะ
ควรให้เด็กได้รับยาจนครบตามกำหนด และหมั่นสังเกตอาการ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลงควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัดติดตามอาการ
วัคซีนป้องไข้หวัดใหญ่
เด็กสามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
เด็กอายุน้อยกว่า
8 ในปีแรกควรรับวัคซีน 2 เข็มและ 1 เข็มในปีต่อไป
เด็กอายุมากกว่า
8 ปี ควรรับวัคซีน ปีละ 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี
โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา
(Influenza virus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิดมากพอที่จะทำให้สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ในคนได้เป็น
2 กลุ่มใหญ่ คือ “ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” และ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
2009” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดไปทั่วโลก
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา
ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก อาการมักจะไม่รุนแรง
เนื่องจากเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง
ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1)
ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมมาก
จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน และติดเชื้อในวงกว้าง
ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วไป
การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป
กล่าวคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก
น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือ จาม และการสัมผัสมือ
หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ
โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก
เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย
โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่
มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา
โดยสังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด
ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือ
ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวันโดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40
องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย
ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก
นอกจากนั้น
เด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหาร
เป็นอาการสำคัญ
ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อย่างหนึ่งคือ
การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ
ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก
ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต
โรคเอดส์ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
ในการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะหายเอง
หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น
เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล
หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนๆ และให้นอนพักมากๆ ไม่ควรออกกำลังกาย
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน
3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ
ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อน หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ
สำหรับคำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป
เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังนี้
หมั่นล้างมือบ่อยๆ
ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย
ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ดื่มน้ำสะอาดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมจากตารางฉีดวัคซีนตามปกติ
แนะนำให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือเด็กอายุ 6
เดือนถึง 19 ปี คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด
ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องไปคลินิกหรือไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ช่วงฤดูไข้หวัด
หรือทำงานอยู่ในโรงพยาบาล คนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น